12 สัตว์ทะเลมีพิษ ป้องกัน รักษา อย่างไรถ้าเจอ!
ร้อนนี้ใครๆ ก็ไปทะเล เดินชิลล์ริมชายหาด ดำน้ำดูปะการัง แต่การไปเที่ยวตามทะเลหรือชายหาดนั้นต้องระวังเรื่องสัตว์ทะเลมีพิษด้วยค่ะ เพราะหากเราไปเดินหรือดำน้ำในที่ที่มีสัตว์เหล่านั้นชุกชุม และถูกกัด ต่อย สัมผัสโดนจนเกิดแผลหรือเจ็บปวด หรือเผลอกินสัตว์มีพิษเข้าไป ก็อาจทำให้ทริปนี้หมดสนุกได้ วันนี้เราจึงพาไปรู้จักกับสัตว์ทะเลมีพิษและวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อป้องกันและรับมือกับอันตรายเมื่อไปเที่ยวทะเลค่ะ
ขนนกทะเล (Sea Feather)
ขนนกทะเลเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายพืช อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีหลายชนิด บางชนิดมีลักษณะคล้ายขนนกและบางชนิดมีลักษณะคล้ายเฟิร์น มักจะพบตามแนวปะการังเกาะกับหลักที่ปักอยู่ริมชายฝั่ง เสาสะพานท่าเรือ รวมถึงเศษวัสดุที่ลอยในทะเล หากผิวสัมผัสกับขนนกทะเล จะทำให้ถูกพิษของมันแทรกเข้าสู่ผิวหนังได้ ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน
การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสขนนกทะเลโดยตรง หากถูกพิษให้ล้างผิวบริเวณนั้นด้วยแอลกอฮอล์ แล้วประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็น หากมีอาการรุนแรงต้องรีบส่งแพทย์ทันที
ปะการัง (Coral)
ปะการังเป็นสัตว์ทะเลกลุ่มใหญ่ที่มีมากกว่า 750 ชนิด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แบบเดี่ยว ปะการังบางชนิดมีหนามหรือแง่แหลมคมยื่นออกมา ซึ่งภายในมีพิษ ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง ซึ่งหากเข้าไปใกล้หรือสัมผัสโดนตรงแง่คมๆ ก็อาจทำให้ถูกพิษของมัน และเกิดอาการบวมแดงและเป็นผื่นคันได้
การป้องกันและรักษา ไม่ควรเดินเหยียบย่ำไปบนปะการัง หรือดำน้ำผ่านแนวปะการัง เพราะหินของปะการังมีความแข็งและแหลมคมมากอาจทำให้เกิดบาดแผล นอกจากนี้ปะการังมักมีพวกแบคทีเรียอาศัยอยู่ ทำให้บาดแผลหายช้า จึงต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหรือแอลกอฮอล์โดยเร็ว และตรวจดูว่าไม่มีเศษปะการังติดค้างอยู่ ควรใส่ยาฆาเชื้อ และหากแผลมีขนาดกว้างและลึกควรรีบนำส่งแพทย์
ปะการังไฟ (Fire Coral)
ปะการังไฟนั้นไม่ใช้ปะการังแท้จริง แต่เป็นสัตว์ทะเลจำพวกเดียวกับขนนกทะเลและมีพิษเช่นเดียวกัน ปะการังไฟมีรูปร่าง 3 แบบคือ แบบแผ่น แบบก้อน และแบบแขนง โดยทั่วไปมักมีสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาล พบปะปนอยู่กับสัตว์อื่นในแนวปะการังทั่วไป หากสัมผัสกับปะการังไฟ จะทำให้เกิดรอยไหม้ บวมแดง และปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังที่สัมผัส
การรักษา ให้ล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูหรือล้างด้วยอะลูมิเนียมซัลเฟตอีกครั้งหนึ่ง หากส่วนที่สัมผัสปะการังเป็นมือ ห้ามนำมาเช็ดหน้าหรือเข้าตาโดยเด็ดขาด เพราะพิษจากปะการังไฟที่ยังเหลืออยู่ จะทำให้เกิดการระคายเคืองได้
แมงกะพรุน (Jelly Fish)
แมงกะพรุนทั่วไปมีรูปร่างคล้ายร่มหรือกระดิ่งคว่ำ ลำตัวโปร่งแสง บริเวณหนวดและแขนงที่ยื่นออกมารอบปากมีเข็มพิษ ที่ใช้ฆ่าเหยื่อหรือทำให้เหยื่อสบลก่อนจับกินเป็นอาหาร พิษของแมงกะพรุนจะทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นบวมแดงและเป็นรอยไหม้ปวดแสบปวดร้อน ทำให้เกิดแผลเรื้อรังได้ แมงกะพรุนบางชนิดทำให้เกิดอาหารจุก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นไข้ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต
การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำทะเลบริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม หรือช่วงหลังพายุฝน เพราะจะมีกะเปาะพิษของแมงกะพรุนหลุดลอยไปในน้ำทะเล หากถูกพิษของแมงกะพรุนไฟให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล หลังจากนั้นควรรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้อีกตำราที่มักใช้กันคือ นำผักบุ้งทะเลบดแล้วพอกตรงบริวเณที่สัมผัสแมงกะพรุน จะช่วยให้อาการต่างๆ บรรเทาลงได้
ดอกไม้ทะเล (Sea anemone)
ดอกไม้ทะเลเป็นสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม มีหนวดเรียงรายอยู่รอบปาก ด้านล่างเป็นฐานยึดเกาะอยู่กับก้อนหิน ก้อนปะการัง หรือฝังตัวลงในพื้นทะเลบริเวณดินเลนหรือดินทราย หากเผลอไปสัมผัสกับหนวดของดอกไม้ทะเลซึ่งมีพืษ จะทำเกิดผื่นแดง ถ้าอาการรุนแรงมากจะทำให้บวมแดง มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน
การรักษา ให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล พยายามเอาเมือกและชิ้นส่วนของหนวดดอกไม้ทะเลออกให้หมด ถ้ามีอาการทรุดให้รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน
บุ้งทะเล (Fire worms)
บุ้งทะเลเป็นหนอนปล้องจำพวกเดียวกับแม่เพรียงหรือไว้เดือนทะเล แต่มีลำตัวสั้นกว่า ลำตัวของบุ้งทะเลมีขนยาวมาก ขนบุ้งเป็นเส้นแข็งและสามารถหลุดจากตัวบุ้งได้ง่าย สามารถแทงเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคันได้
การป้องกันและการรักษา ระมักระวังไม่ให้บุ้งทะเลสัมผัสกับผิวหนัง ไม่ใช้มือเปล่าหยิบจับบุ้งทะเล หากสัมผัสโดนบุ้งทะเล ให้หยิบขนบุ้งออกให้หมด แล้วใช้ครีมหรือคาลาไมน์ ทาเพื่อบรรเทาอาการคันและป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดตามมาได้
เพรียงหิน (Rock Barnacle)
เพรียงหินเป็นสัตว์จำพวกเดียวกับกุ้งและปู อาศัยอยู่ตามโขดหิน เสาสะพานท่าเรือ หลักโป๊ะ หลักเลี้ยงหอยแมลงภู่ หาร์มหอยนางรม หรืออาจพบอยู่บนสัตว์มีเปลือก เช่น หอย แมงดาทะเล ปู เป็นต้น เพรียงหินเป็นสัตว์ที่พบบ่อยและพบชุกชุมตามริมชายฝั่งทะเลทั่วไป
การป้องกันและรักษา ระวังเปลือกที่แหลมคมของเพรียงหิน เมื่อเดินไปตามโขดหินหรือเมื่อดำน้ำเก็บหอยแมลงภู่ หากถูกเพรียงหินบาดให้ทำความสะอาดบาดแผลและใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาแดง หากเสียเลือดมากให้นำส่งแพทย์เพื่อเย็บบาดแผลทันที
ปู (Crab)
ปูส่วนใหญ่มีก้ามแข็งแรง ใช้หนีบศัตรูให้บาดเจ็บได้ โดยเฉพาะปูทะเล ปูม้า ปูใบ้ขนาดใหญ่ การจับปู่เหล่านี้จึงต้องระมัดระวัง สำหรับปูใบ้นั้นมีเปลือกแข็งและก้ามแข็งแรงมาก เมื่อหนีบแล้วจะไม่ยอมปล่อยง่ายๆ นอกจากการถูกปูหนีบแล้ว การกินปู เช่น ปูม้า หรือปูทะเลที่ไม่สดและมีดินตะกอน แบคทีเรียที่อยู่ในปูจะทำให้เกิดอาการท้องเดินได้เช่นกัน ซึ่งการบริโภคปูมีพิษ จะทำห้เกิดอาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ และใบหน้า รวมทั้งอาการปวดท้อง และช็อคได้ด้วย
การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงการกินปูชนิดที่ไม่คุ้นเคย หากกินปูที่มีพิษเข้าไป ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว และนำตัวอย่างปูที่มีพิษนั้นไปด้วย
แมงดาทะเล (Horse-shoe crab)
แมงดาทะเลที่พบในทะเลไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ แมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม และ แมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลม ทั้ง 2 ชนิดอยู่ต่างที่กัน แมงดาจานจะอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายหาดที่เป็นดินทราย ส่วนแมงดาถ้วยอาศัยตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามลำคลองในป่าชายเลน การทานแมงดาทะเลที่มีพิษ แม้ว่าจะปรุงไข่หรือเนื้อให้สุกแล้ว แต้ก็ยังเป็นอันตรายได้ โดยพิษของแมงดาจะทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ปากชาพูดไม่ได้ แขนขาอ่อนเปลี้ย กล้ามเนื้อไม่ทำงาน หมดความรู้สึกและอาจเสียชีวิตได้
การรักษา หากทานแมงดาทะเลมีพิษเข้าไป ต้องทำการล้างท้อง ให้อาเจียน และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
เม่นทะเล (Sea urchin)
เม่นทะเลเป็นสัตว์ที่มีหนามยาวตามผิวตัวเป็นจำนวนมาก ชนิดที่พบชุกชุมในแนวปะการังของชายฝั่งทะเลไทย คือเม่นดำหนามยาว การดำน้ำหรือเล่นน้ำบริเวณที่มีเม่นทะเล คลื่นอาจซัดให้โยนตัวไปเหยียบหรือนั่งทับเม่นทะเลได้ หนามของเม่นทะเลเปราะหักง่าย แต่เมื่อฝังอยู่ในเนื้อจะไม่สามารถบ่งออกได้ บางชนิดมีพิษที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง ปวดและเป็นไข้ได้ หนามของเม่นทะเลจะทำให้เกิดอาการบวมแดง ชาอยู่นานประมาณ 30 นาที จนถึง 4-6 ชั่วโมง และหนามจะย่อยสลายไปภายใน 24 ชั่วโมง
การป้องกันและรักษา โดยปกติเม่นทะเลไม่เป็นอันตรายต่อนักดำน้ำ ถ้าไม่เข้าไปใกล้หรือจับต้อง เมื่อถูกหนามเม่นทะเลตำ ให้ถอนหนามออก หากถอนไม่ออกให้พยายาททำให้หนามบริเวณนั้นแตกเป็นชิ้นเล็ก โดยการบีบผิวหนังไปม่ หรือแช่แผลในน้ำร้อนประมาณ 50 องศสเซลเซียส เพื่อช่วยให่หนามย่อยสลายเร็วขึ้น แต่ก็มีหนามบางชนิดไม่สามารถย่อยสลายได้เช่นกัน ต้องใช้วิธีผ่าออกเท่านั้น
ปลาปักเป้า (Puffer fishes)
ปลาปักเป้าเป็นปลาที่รู้จักกันดีว่ามีพิษโดยเฉพาะไข่ ตับ ลำไส้ ผิวหนัง ส่วนเนื้อปลามีพิษน้อย การกินปลาปักเป้า หากปรุงไม่ถูกวิธี จะทำให้พิษที่อยู่ในอวัยวะภายในปนเปื้อนเนื้อปลา เมื่อกินเข้าไปจะทำให้ได้รับพิษ จนเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก มีอาการคัน แสบร้อนที่ผิวหนังและตา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ขาอ่อนแรง หรือเกิดอัมพาต อาจร้ายแรงมากจนถึงขั้นเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว กลืนลำบาก ความดันเลือดสูง และเสียชีวิต ปลาปักเป้าที่มีพิษ ได้แก่ ปักเป้าดำและปักเป้าหนามทุเรียน
การป้องกันและรักษา งดทานอาหารแปลกๆ ถ้าไม่แน่ใจให้ถามชาวประมงหรือคนในท้องถิ่น หากได้รับสารพิษเข้าไปแล้ว พยายามทำให้อาเจียนโดยวิธีล้วงคอ หรือให้ดื่มผงถ่านกัมมันต์ผสมน้ำ เพื่อดูดซับสารพิษที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร ไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นให้รีบนำส่งแพทย์
ปลากระเบน (Ray)
ปลากระเบนเป็นปลากระดูกอ่อน มีหางยาวซึ่งมีเงี่ยงแหลมอยู่บริเวณโคนหาง ไว้คอยป้องกันตัว หากเดินอยู่ริมชายฝั่งทะเลอาจเหยียบไปบนตัวปลากระเบนที่หมกตัวอยู่ตามพื้นทะเลได้ และอาจถูกเงี่ยงตำจนได้รับคว่ามเจ็บปวด บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้
การรักษา การปฐมพยาบาลในขั้นแรกคือ ห้ามเลือดที่บาดแผล แล้วตรวจดูว่ามีเศษเงี่ยงพิษตกค้างอยู่หรือไม่ เนื่องจากพิษของเงี่ยงปลากระเบนเป็นสารพวกโปรตีนย่อยสลายในความร้อน ดังนั้นควรแช่บาดแผลในน้ำร้อนเท่าที่จะทนได้ ประมาณ 30-60 นาที อาการปวดจะทุเลาลง และทานยาแก้อักเสบ หากมีอาการแพ้ควรรีบนำส่งแพทย์